วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

พบไวรัสหมูท้องร่วง กลายพันธุ์จากจีน ตายกว่า 6 แสนตัว


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
จากเหตุการณ์ลูกหมูในฟาร์มทั่วประเทศไทยตายลงกว่า 6 แสนตัว จากการระบาดของ "โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร" หรือโรคพีอีดี (Porcine Epidemic Diarrhea หรือ PED) นั้น ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่เกิดโรคระบาดพีอีดีทำให้หมูตายนับแสนตัว นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์สารพันธุกรรมในไวรัสที่ระบาดยังพบว่า ไม่ใช่ไวรัสพีอีดีในไทย แต่เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่มาจากประเทศจีน
ขณะที่ น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช หัวหน้าหน่วยชันสูตรโรคสัตว์และหัวหน้าหน่วยพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคพีอีดีที่ทำให้หมูท้องร่วงนั้นพบในเมืองไทยมานานหลายปี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพีอีดี(Porcine Epidemic Diarrhea Virus หรือ PEDV) ในสกุลโคโรนาไวรัส (coronavirus) ที่พบได้ในสัตว์หลายชนิดรวมทั้งในคน ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารน้อยลง ลูกหมูจะสูญเสียของเหลวและมีอาการขาดน้ำรุนแรงจนช็อกตาย แต่โรคพีอีดีไม่เคยระบาดรุนแรงจนทำให้ลูกหมูตายไปไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัวแบบนี้มาก่อน จึงมีการนำเชื้อพีอีดีที่ระบาดล่าสุดมาวิเคราะห์สารพันธุกรรม ทราบว่าไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์เดิมในเมืองไทย แต่เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2547
"ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของโลกที่โรคระบาดพีอีดีทำให้ลูกหมูท้องร่วงตายกว่า 5 แสนตัว มีรายงานว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เมื่อนำไวรัสพีอีดีจากลูกหมูที่ตายมาถอดรหัสพันธุกรรม ทำให้รู้ว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ไม่เคยระบาดในไทยมาก่อน เพราะสารพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ไปเหมือนกับสายพันธุ์ที่เคยพบในจีนมาก่อนแล้ว ถือเป็นการพบไวรัสพีอีดีสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในไทย" ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสในสุกรกล่าว
น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า การระบาดของโรคพีอีดีนั้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าติดสู่คนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสจะติดอยู่ตามเสื้อผ้า มือ รองเท้า หรืออวัยวะของผู้ที่ไปสัมผัสตัวลูกหมูหรืออุจจาระในเล้าหมู หากผู้สัมผัสมีร่างกายอ่อนแออาจมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วงประมาณ 1 วัน จากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนก เพราะขณะนี้กำลังศึกษาถึงการก่อโรคในสัตว์และในคนอยู่ ถึงแม้ว่าไวรัสพีอีดีจะเป็นไวรัสในวงศ์เดียวกับไวรัสซาร์สก็ตาม แต่ลักษณะทางพันธุกรรมและการก่อโรคจะแตกต่างกันมาก เนื่องจากไวรัสซาร์สไปทำลายระบบหายใจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไวรัสพีอีดีหากมีการติดเชื้อสู่คนจริงก็จะมีอาการท้องร่วงแค่ 1 - 2 ครั้ง จากการสังเกตของผู้เชี่ยวชาญแล้วร่างกายมนุษย์ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เองตามธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น